top of page

รายงานของนักวิจัย Seung-Mo Lee และเพื่อนร่วมงานที่สถาบันวิจัย Max Planck Institute of Microstructure Physics ในเยอรมนี ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Journal Science อธิบายว่า เมื่อเพิ่มธาตุสังกะสี ไทแทเนียมหรืออลูมิเนียม เข้าไปในใยแมงมุม จะช่วยให้เส้นใยนั้นต้านทานการฉีกขาดหรือการเปลี่ยนรูปได้ดีขึ้น ซึ่งวิธีนี้สามารถนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าที่มีความยืดหยุ่นทนทานสูง รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ต่างๆ เช่น เส้นไหมที่ใช้ในการผ่าตัด หรือผลิตกระดูกและเส้นเอ็นเทียมได้

 

นักวิจัยกลุ่มนี้ใช้กระบวนการที่เรียกว่า การแตกตัวของชั้นอะตอม ซึ่งไม่เพียงแต่เคลือบใยแมงมุมด้วยสารโลหะเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้อะตอมบางตัวของโลหะนั้นเจาะเข้าไปในเส้นใย และทำปฎิกิริยากับโครงสร้างโปรตีนในใยแมงมุม เกิดเป็นใยแมงมุมแบบใหม่ที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ คุณลีบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจเรื่องนี้จากการศึกษาชิ้นส่วนที่แข็งแรงที่สุด ของตัวแมลงบางชนิด เช่น ขากรรไกรของมดและตั๊กแตนบางพันธ์ พบว่าชิ้นส่วนนั้นมีธาตุสังกะสีประกอบอยู่ในระดับสูง จึงมีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ

 

แม้คุณสมบัติด้านความเหนียวของใยแมงมุม จะอยู่ในความสนใจของนักวิทยาศาสตร์มานานแล้ว แต่การผลิตใยแมงมุมเพื่อการพาณิชย์นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะแมงมุมที่เลี้ยงไว้เพื่อผลิตเส้นใย มักจะกินแมงมุมกันเอง ดังนั้น บรรดานักวิทยาศาสตร์จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะคิดหาวิธีผลิตใยแมงมุมโดยไม่ต้องใช้ตัวแมงมุมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการลอกเลียนแบบวิธีปั่นเส้นใยของแมงมุม หรือการสร้างเส้นใยจากนมของแพะ ที่ผ่านการตบแต่งพันธุกรรมด้วยการใส่ยีนพิเศษของแมงมุมเข้าไปในแพะตัวนั้น ก็ไม่รู้ว่าเส้นใยที่ออกมาจะเรียกว่าใยแมงมุมหรือใยแพะดี แต่ที่แน่ๆ ถ้าเกิดในอนาคต นักวิทยาศาสตร์สามารถผลิตใยแมงมุมแบบยืดหยุ่นทนทาน ไม่ขาดง่ายเหมือนใยของเจ้ามนุษย์แมงมุมขึ้นมาได้จริงๆ เราอาจจะได้เห็นบรรดาแฟนพันธ์แท้ Spiderman ออกมาห้อยโหนโจนทะยานเพ่นพ่านอยู่ตามยอดตึกต่างๆ กันให้วุ่นก็เป็นได้

 

 

 

 

 

 

คลิปตัวอย่างการสร้างใยแมงมุมโดยมนุษย์

bottom of page